สดช.จัดประชุมระดมสมองและรับฟังความคิดเห็นแนวทางการใช้ดิจิทัลกับการทำสวนผลไม้

สดช.จัดประชุมระดมสมองและรับฟังความคิดเห็นแนวทางการใช้ดิจิทัลกับการทำสวนผลไม้

ดร.พรพรรณ ตันนุกิจ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนานโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานในการประชุม เรื่อง แนวทางการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ ผ่านกลไกของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีผู้แทนเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้เครือข่ายงานวิจัยของประเทศและหน่วยงานภาคการเกษตรที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันสร้างสรรค์ประเด็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ณ ห้อง BB 202 โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ดร.พรพรรณ กล่าวว่า การทำสวนผลไม้โดยเฉพาะสวนทุเรียน เป็นที่นิยมปลูกของเกษตรกร เนื่องจากเป็นสินค้าที่ต้องการของตลาดภายในและต่างประเทศ แต่ทั้งนี้เกษตรกรยังมีปัญหาที่ต้องการความช่วยเหลือในเรื่องของน้ำที่ไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก ปัญหาพ่อค้าคนกลางที่กดราคาผลผลิตของเกษตรกร โรคต่าง ๆ ที่เกิดกับการปลูกทุเรียน และปัญหาขาดแคลนแรงงาน การส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมการเกษตรมากขึ้น จึงเป็นสิ่งที่ช่วยทดแทนจำนวนแรงงานที่หายไปได้ รวมทั้งช่วยเพิ่มผลิตภาพ เพิ่มรายได้ และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรผู้ปลูกทุเรียนให้ดีขึ้น แต่ทั้งนี้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคการเกษตร ยังมีความท้าทายในประเด็นการเข้าถึงและการปรับตัวของเกษตรกรในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอยู่ค่อนข้างมาก สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สดช. ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบกำหนดทิศทางและวางยุทธศาสตร์การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาและการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมทางด้านดิจิทัลในภาคจึงส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน เช่น นวัตกรรมระบบหมุนเวียนน้ำในแปลงเกษตรกรรมของนายนิรันดร์ สมพงษ์ หัวหน้าชุมชนศูนย์การเรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริบ้านเหนือ ที่ได้คิดค้นไว้เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในแปลงของเกษตรกรที่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำ ซึ่งเกษตรกรที่สนใจสามารถเรียนรู้ทำเองได้ด้วยงบประมาณหลักพันบาท สดช. จึงได้ดำเนินการศึกษาแนวทางการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน จัดทำนโยบายสาธารณะตามกระบวนการห้องปฏิบัติการนโยบายสาธารณะ (Policy Lab) โดยผ่านการทำงานร่วมกับกลไกของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เครือข่ายงานวิจัยของประเทศ หน่วยงานภาคการเกษตรที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ประเด็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และสามารถตอบโจทย์นโยบายที่มีเกษตรกรเป็นศูนย์กลางได้อย่างแท้จริง สามารถหาช่องทางในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ในภาคเกษตรกรรมเพื่อช่วยเพิ่มผลิตภาพในการผลิต ทำให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมทั้งการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคส่วนต่าง ๆ จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ อันเป็นเป้าหมายหนึ่งของนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม